การรับมือกับพฤติกรรมเด็ก


เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เชื่อฟังเวลาพ่อแม่ห้ามปราม ไม่ยอมทำอะไรบางอย่างที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำลายสิ่งของเมื่อโกรธหรือโนขัดใจ ซึ่งพ่อแม่จะต้องเตรียมพร้อมในการตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กที่ไม่เหมาะสมดังนี้

1.เมื่อเด็กเล่นของมีคม หรือปีนป่ายไปในที่สูง พ่อแม่ต้องให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมา สั้นๆ เข้าใจง่ายว่าการเล่นของมีคมจะทำให้บาดมือได้ หากปีนขึ้นไปในที่สูงตกลงมาจะทำให้เจ็บอาจทำให้แขนขาหักได้ หรือใช้เทคนิคการให้สิ่งทดแทน ถ้าเด็กเล่นของมีคมอยู่ ก็ให้เอาของเล่นอื่นที่น่าสนใจกว่าไปแลก

2.พ่อแม่ต้องแสดงออกด้วยท่าทีที่หนักแน่นและจริงจัง หากพ่อแม่ต้องการให้เด็กทำอะไรแต่เด็กไม่ยอมทำหรือเลื่อนเวลาทำออกไปเรื่อยๆ พ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าต้องทำขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เช่น หากลูกไม่ยอมทำการบ้าน พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าต้องทำการบ้านโดยบอกด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจังและให้เด็กเอาสมุดการบ้านออกมาทำเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าจำเป็นก็อยู่กับเด็กจนทำเสร็จ

3.การเสริมแรงแบ่งออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ การเสริมแรงทางบวก เป็นการให้สิ่งเสริมแรงที่เด็กพอใจ ให้รางวัล ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมนั้นถี่ขึ้น เช่น เมื่อลูกทำการบ้านเสร็จ แม่ชมและให้ขนมเป็นของรางวัล ส่วนการเสริมแรงทางลบ เป็นการนำเอาสิ่งที่เด็กไม่พึงพอใจออกไป ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมนั้นถี่ขึ้น เช่น หากเด็กอ่านหนังสือจบหนึ่งเล่ม จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องล้างจานหนึ่งวัน เป็นต้น

4.การลงโทษ หากไม่จำเป็นพยายามอย่าใช้วิธีการลงโทษด้วยอารมณ์ เพราะจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้านมากขึ้น ซึ่งการลงโทษแบ่งเป็น 2 ทาง ได้แก่ การลงโทษทางบวก เป็นการให้สิ่งเร้าที่เด็กไม่พึงพอใจ ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมนั้นลดลง เช่น เมื่อเด็กแอบไปเล่นน้ำ แล้วโดนแม่ตี ส่วนการลงโทษทางลบ เป็นการนำสิ่งเร้าที่เด็กพึงพอใจออก ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมลดลง เช่น หากแต่งตัวไปโรงเรียนไม่เรียบร้อย จะโดนแม่หักเงินค่าขนม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็เป็นส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของเด็ก
โดยเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของผู้ใหญ่มากกว่าการสั่งสอนด้วยคำพูด ดังคำสุภาษิตที่ว่า “ลูกไม้ หล่นไม่ไกลต้น”