ความขัดแย้งในการทำงาน
- ความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาเราย่อมพบกับความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อมีคนที่มีความแตกต่างกัน มาอยู่ร่วมกันโดยเฉพาะมาทำงานร่วมกัน มักเกิดความขัดแย้งขึ้น หากเอ่ยถึงความขัดแย้ง จะมีมุมมองด้วยกัน 2 มุมมอง คือ
มองว่าความคิดเราคือตัวเรา ถ้าใครคิดไม่เหมือนก็ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรูกับเราโดยตรง มุมมองลักษณะอย่างนี้จะทำให้การบริหารความขัดแย้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเป็นมุมมองของการต่อสู้ ฟาดฟันกัน - มองว่ามันมีความจริงและเหตุผลในทุกเรื่อง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกที่สุด คือทุกอย่างมีความจริงอยู่ อันนี้ก็จริง อันนั้นก็จริง ไม่มีอะไรถูกที่สุด เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหากันก็เอามาแสดงออก แล้วสามารถทะเลาะกันบนโต๊ะได้ พอจบจากการพูดคุยกันบนโต๊ะก็สามารถนั่งกอดคอ กินข้าวกันได้ ยังสามารถจะพูดคุย และอยู่ร่วมกันได้ เราต้องแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
สาเหตุของความขัดแย้งมีด้วยกันหลากหลาย ตัวอย่าง เช่น
- ความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ ทั้งส่วนบุคคล ส่วนรวม (องค์กร, บริษัท, สถาบัน)
- ความขัดแย้งในการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองมากเกินไป
- ความขัดแย้งที่เกิดจากการแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม
- ความขัดแย้งเรื่องที่ไม่สามารถเข้าใจในวิธีคิด ขั้นตอนวิธีคิดและบุคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละคนที่ต่างกัน
- ความขัดแย้งที่เกิดจากการขาดสติ เวลาเกิดความผิดก็พยายามปกป้องหน้าตาตัวเองด้วยการแสดงออก สร้างความถูกต้อง ยกเหตุผลต่างๆ นานามาอ้างมากมายเพื่อให้ตัวเองถูก
วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง
- ตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน โดยต้องมากำหนดเป้าหมายกันใหม่ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร และที่เราทะเลาะกันจริงๆ แล้วกลายเป็นเราเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่จนลืมเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กรไปหรือเปล่า
- กำหนดบทบาทของแต่ละคนให้ชัดเจนขึ้น จะได้รู้ว่าคนแต่ละคนในองค์กร ในทีมทำอะไร มีหน้าที่อะไรกันบ้าง แบ่งให้ทราบกันอย่างชัดเจน และต้องเข้าใจว่าผู้บริหารคาดหวังอะไร
- กำหนดหลักปฏิบัติพื้นฐานร่วมกัน คือเป็นกฎขั้นต้น เช่น เวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ห้ามโยนความขัดแย้งนี้ให้บุคคลที่ 3 ตัดสิน เพราะเขาจะตัดสินบนความคิดของเขา และอาจทำให้กลายเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่าเดิม และต้องไม่หันไปหาพวกเพื่อหากำลังเสริม ถ้าเป็นอย่างนี้องค์กรจะเริ่มแตกเป็น 2 ส่วนแล้ว หากเกิดปัญหาแล้วต้องไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน ต้องแก้ให้เสร็จใน 2-3 วัน อย่าทิ้งไว้นานจนเกินปัญหาเรื้อรัง จนแก้ไม่ทันเวลา
- ห้ามพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังขัดแย้งกับเรา ในที่ประชุมตอนเขาไม่อยู่ ถ้าจะพูดก็ต้องพูดกันต่อหน้า
- ห้ามทำให้ความขัดแย้งทางความคิดกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล เอามาเกี่ยงข้องในเรื่องงาน