โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยรวมๆ ทางด้านจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงของสมดุลสารเคมีในร่างกายซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองมีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคน และโรคซึมเศร้ามักเกิด จากความผิดหวัง หรือการสูญเสียบุคคลที่รัก ความกดดัน ตึงเครียดด้านสังคม การเรียน การเงิน และการงาน การที่มีความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว ขาดความรักความอบอุ่น การขาดการดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น
อาการของโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอารมณ์หดหู่ และไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ รู้สึกตนเองไร้คุณค่า รู้สึกผิดและเสียใจอย่างไม่มีเหตุผล ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หมดหวัง ท้อแท้ นอกจากนี้อาจมีอาการความจำสั้น การแยกตัวออกจากสังคม ความต้องการทางเพศลดลง และอาจมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายร่วมด้วย
หากท่านต้องการตรวจสอบว่าตนเองอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือไม่ มีคำถามคัดกรองดังนี้ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาท่าน…
___ รู้สึกกลุ้มใจ ซึมเศร้าทุกวัน หรือทั้งวันหรือไม่
___ รู้สึกเบื่อทุกสิ่งหรือไม่
___ เบื่ออาหารหรือไม่
___ มีปัญหาในการนอนหลับหรือไม่
___ รู้สึกกระวนกระวาย หรือไม่
___ รู้สึกเพลียง่ายหรือไม่
___ รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถหรือไม่
___ รู้สึกใจลอย ไม่มีสมาธิหรือไม่
___ รู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่
ถ้าท่านมีอารมณ์เศร้า เบื่อทุกๆอย่างนานกว่า 2 สัปดาห์ และมีอาการต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 4 ข้อ ท่านอาจเป็นโรคซึมเศร้า
___ เบื่ออาหาร ผอมลง
___ นอนไม่หลับ
___ กระวนกระวาย
___ อ่อนเพลียง่าย
___ รู้สึกผิด ไร้ค่า
___ ขาดสมาธิ
___ คิดอยากตาย
การดูแลรักษาโรคซึมเศร้า
มี 3 วิธีหลักๆ คือ การบำบัดทางจิต การใช้ยาบำบัด และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
ถ้าท่านรู้สึกว่ามีอาการซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์, นักจิตวิทยา, นักจิตบำบัด, ผู้ให้คำปรึกษา เพื่อรับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที